บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2556

ความรู้เรื่องไหม


ไหม (silkworm) เป็นแมลงที่สร้างรังห่อหุ้มตนเองในขณะที่เปลี่ยนสภาพจากตัวหนอนเป็นดักแด้ รังไหมประกอบด้วยเส้นใยธรรมชาติที่มีคุณค่าสูงทางเศรษฐกิจ เพราะนอกจากจะใช้ทำเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและเคหะสิ่งทอต่างๆ แล้ว ยังใช้ประโยชน์ด้านอื่นอีกหลายอย่าง เช่น สกัดสารจากรังไหมเพื่อใช้เป็นองค์ประกอบในเครื่องสำอางและอาหารเพื่อสุขภาพ ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้นดักแด้ไหมยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมด้วยโปรตีนและไขมันประเภทไม่อิ่มตัว สามารถใช้เป็นอาหารทั้งของคนและสัตว์เศรษฐกิจ เป็นต้น ไหมจึงเป็นแมลงที่สำคัญทางเศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ประเทศไทยเป็นประเทศสำคัญอันดับต้นๆ ที่มีการเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมมาช้านาน นับตั้งแต่เริ่มมีการตั้งโรงช่างไหมเพื่อการเลี้ยงไหมเป็นอุตสาหกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีความก้าวหน้าพัฒนามาเป็นลำดับ จนผ้าไหมไทยมีชื่อเสียงไปทั่วโลกในด้านความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ นับเป็นสิ่งทอหลักที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ การเลี้ยงไหมนอกจากจะทำให้เกษตรกรมีอาชีพ สร้างรายได้สำหรับดำรงชีวิต ยังทำให้เกษตรกรอยู่ในพื้นที่ ไม่ละถิ่นฐานไปทำงานที่อื่น มีโอกาสในการสร้างครอบครัวที่มั่นคง เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีงามของคนในชุมชน เพื่อการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนั้นไหมยังช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสิ่งทอและการสร้างผลิตภัณฑ์จากไหม 



ไหมที่เลี้ยงกันมากที่สุดคือ ไหมหม่อน (Mulberry silkworm) ซึ่งกินใบหม่อนเป็นอาหาร การเลี้ยงไหมหม่อนเป็นอาชีพที่สำคัญของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งได้สืบสานวัฒนธรรมนี้ต่อเนื่องกันมาหลายร้อยปี เสริมสร้างภูมิปัญญาและความภาคภูมิใจให้กับเกษตรกรมาช้านาน แต่ไหมที่ให้เส้นใยยังมีอีกหลายชนิด เช่น ไหมอีรี่ ไหมมูก้าและไหมทาซาร์ ซึ่งจัดเป็น Non-mulberry silkworm หรือ wild silkworm โดยไหมอีรี่เป็น non-mulberry silkworm เพียงชนิดเดียวที่มนุษย์สามารถเลี้ยงได้ครบวงจรชีวิตเช่นเดียวกับไหมหม่อน ประเทศไทยมีการเลี้ยงไหมอีรี่บ้างแต่ไม่แพร่หลายเท่าไหมหม่อน ไหมอีรี่กินใบละหุ่งและใบมันสำปะหลังเป็นอาหาร จากการที่ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมากถึง 7 ล้านไร่ และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นจากการส่งเสริมการใช้มันสำปะหลังเป็นพืชพลังงานทดแทน การเลี้ยงไหมอีรี่ด้วยใบมันสำปะหลังจึงเป็นอาชีพเสริมทางเลือกที่มีศักยภาพสูงสำหรับชาวไร่มันสำปะหลัง 





ในปัจจุบันการเลี้ยงไหมในประเทศไทย มีปริมาณลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญ คือ การแข่งขันกันทางการตลาด โดยประเทศเพื่อนบ้านสามารถผลิตไหมได้ในราคาที่ถูกกว่า นอกจากนั้นความก้าวหน้าทางวัตถุและเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมการประกอบอาชีพของคนไทย ลูกหลานของเกษตรกรรุ่นใหม่หันไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม ละเลยอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ไหมสายพันธุ์ไทยแท้ที่กล่าวกันว่าสามารถผลิตเส้นใยไหมที่งดงามที่สุดในโลก กำลังอยู่ในภาวะวิกฤตเมื่อไม่มีผู้เลี้ยงดำรงสายพันธุ์ ภูมิปัญญาของเกษตรกรไทยที่ช่วยรังสรรค์ผ้าไหมไทยที่ถักทอแบบต่างๆ และสร้างลวดลายได้หลากหลายที่นำชื่อเสียงมาให้ประเทศอย่างมากมาย อาจไม่มีผู้สานงานต่อ ประเทศไทยอาจเสียความเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอจากไหมในภูมิภาคเอเซีย ซึ่งจะทำให้สูญเสียรายได้เข้าประเทศอย่างมากในแต่ละปี สิ่งที่สำคัญ คือ ศาสตร์และศิลปของแผ่นดินทางด้านนี้มีคุณค่ายิ่งที่ต้องอนุรักษ์ไว้คู่แผ่นดินตลอดไป อันเป็นพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้ทรงพระเมตตาสนับสนุนและส่งเสริมการเลี้ยงไหมมาโดยตลอด และทรงทำให้ประชาชนชาวไทยได้เกิดความรู้สึกหวงแหนและช่วยกันพัฒนาและดำรงรักษาไว้ให้ลูกหลานสืบต่อไป 


http://classama.blogspot.com/
http://silkker.blogspot.com/
http://producker.blogspot.com/
http://mongkoll.blogspot.com/